วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

12 คำ จากร้อยคำ ที่ควรรู้

คอร์รัปชัน (Corruption) หมายถึง การทุจริต การโกงกิน การฉ้อราษฎร์บังหลวง การได้ประโยชน์อันมิชอบที่เกิดจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด ผิดกฎหมาย หรือมาตรฐานทางศีลธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนตนหรือพวกพ้อง ไม่ว่าด้านสังคม การเงิน หรือตำแหน่ง
การทุจริตมีหลายลักษณะและรูปแบบ เช่น การให้และรับสินบนการใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ การไม่ทำตามหน้าที่ การใช้อิทธิพลทางการค้า การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง มีมูลค่าสูงการปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง การปิดบังและการให้ความเท็จ ใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มขู่ คุกคามและทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัว การใช้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆมีอคติ และลำเอียง การทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียงและการทุจริตด้วยวิธีต่างๆ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย การบริจาคเพื่อช่วยเหลือการรณรงค์ที่ผิดกฎหมายฯลฯ



การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หมายถึง การทุจริตที่เกิดจากการกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง พวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เกิดผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน(Conflict of Interest) ระหว่างกลุ่ม ส่วนน้อย ที่ได้รับประโยชน์ และส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม มีความลำเอียงและสองมาตรฐาน (Double Standard) ในโยบายและการปฏิบัติ
การคอร์รัปชันเชิงนโยบายมีหลากหลายลักษณะ ทั้งการออกกฎหมายใหม่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง การตีความกฎหมายระเบียบต่างๆ เข้าข้างตนเอง การอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เป็นการทุจริตบนผลประโยชน์ที่ทับซ้อน ซึ้งรวมไปถึงกระบวนการทำให้ ผิดเป็นถูก ด้วยการสร้างค่านิยมผิดๆให้กับสังคม เช่น โก่งก็ได้ ขอให้พัฒนาประเทศก็พอ

คืนสู่ฐาน (Back to Basic)หมายถึง การกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่สับสนระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ เพราะความต้องการของคนไม่มีสิ้นสุด การคืนสู่ฐานจึงเป็นการเรียนรู้จักพอ อยู่พอดี กินพอดีไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และเป้าหมายสุดท้ายคือความสุขไม่สับสน ระหว่างเป้าหมายและเครื่องมือ ไม่ใช่เอาเงินเป็นเป้าหมาย
เอาความสุขเป็นผลพลอยได้ และทำทุกวิธีทางที่จะหาเงินให้ได้มากๆจนเกิดทุกข์ สำหรับชีวิตที่พอเพียง คนจนคือคนที่ไม่รู้จักพอคนรวยคือคนที่รู้จักพอ คนมีความสุขเพราะรู้จักพอ



คืนสู่ธรรมชาติ (Back to the Nature) เป็นกระแสโลกปัจจุบันที่ได้พบว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสามร้อยปีที่ผ่านมาได้ทำลายธรรมชาติแลสิ่งแวดล้อมไปมากจนเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหลืออยู่และพื้นฟูที่เสียไปให้กลับมาให้มากที่สุด เฟื้อฟื้นฟูความสม ดุลในธรรมชาติ ยุคนี้จึงเป็นยุคของสุขภาพ ปลอดสารเคมี อินทรีย์ชีวภาพ เป็นยุคที่คนเห็นคุณค่าของผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นอะไรที่อยู่ใกล้ธรรมชาติมากกว่าผลผลิตของสังคมยุคใหม่และไฮเทค

จรรยาบรรณแพทย์ หมายถึง วิธีปฏิบัติบนพื้นฐานของหลักจริยธรรมว่าแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวกับสุขภาพควรปฏิบัติต่อคนไข้อย่างไรจึงจะเหมาะสม ถูกต้อง ดีงาม และบางกรณีอาจรวมไปถึงวีถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับภาพลักษณ์และบทบาทหน้าที่
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ป่วยนั้น จรรยาบรรณแพทย์เน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด ไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเอง และเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมุฏฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง ทั้งผู้รักษาและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย

จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct)หมายถึง กฎเกณฑ์อันเป็นแนวปฏิบัติที่มีพื้นฐานทางจริยธรรมของผู้ประกอบการทางธุรกิจต่อสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะลูกค้าหรือผู้บริโภคและผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการประกอบการนั้น
จริยธรรมในส่วนนี้ คือความรับผิดชอบทางสังคมต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ สิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าและบริการนั้นสิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่จะมีจำหน่ายอยู่ นอกนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมหมายถึง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยการคืนกำไรส่วนหนึ่งให้สังคมด้วย

จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาคนแบบองค์รวม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ที่ศึกษา ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเองเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนวิธีคิด
วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่าและวิธีมองโลกความเป็นจริง เกิดความเป็นอิสระ เกิดปัญญา
ปรับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นและต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล

จิตตปัญญาศึกษาเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา จิตตภาวนาโยคะ การทำงานศิลปะ ทำให้เข้าถึงความดี ความจริง ความงาม โดยไม่ได้แยกชีวิตของตนเองออกจากความเป็นจริง ชุมชน สังคม และประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งล้วนสัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงตนเองจึงสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย

จีดีพี (GDP-Gross Domestic Product) แปลเป็นไทยว่าผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติ ซึ่งหมายถึงมูลค่าตลาดทั้งหมดของสินค้าและการบริการในประเทศในหนึ่งปี ตัวเลขดังกล่าวได้มาจากตัวเลขการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล บวกตัวเลขการส่งออก ลบด้วยตัวเลขการนำเข้า
GDP รวมมูลค่าตลาดทั้งหมดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือดำเนินการโดยบริษัทของประเทศใด ขณะที่ GNP (Gross National Product) วัดโดยใช้มูลค่าตลาดของสัญชาติตนเองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จึงนิยมใช้ GDPมากกว่า
วันนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกกว่า การวัดความเจริญด้วยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แบบนี้ไม่ได้แสดงการเจริญเติบโต จริงๆ หรือเติบโตในคุณภาพชีวิต มีชีวิตดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะหลักฐานทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีทรัพย์สินเงินทองมากไม่ได้
แปลว่ามีคุณภาพชีวิตและมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วยเสมอไป มีหลายประเทศที่มีจีดีพีอยู่ระดับเดียวกัน แต่แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องสุขภาพและการศึกษาแห่งชาติ ประเทศยากจนบางประเทศมีตัวเลขคุณภาพชีวิตดีกว่าประเทศร่ำรวยกว่าบางประเทศ เช่น อายุยืนกว่า เด็กตายน้อยกว่า คนมีสุขภาพจิตดีกว่า ความเครียดน้อยกว่าและมีตัวชี้วัดการอยู่ดีมีสุขอีกหลายตัวดีกว่า
มีการวิพากษ์วิจารณ์เกณฑ์การวัดจีดีพีเองด้วยว่า ไม่สมบูรณ์และไม่ตรงกับความเป็นจริง แม้การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมยังถูกรวมเข้าไปอยู่ในจีดีพี แทนที่จะลบออก จีดีพีไม่ได้แยกระหว่างอะไรเป็นที่พึงปรารถนา อะไรไม่พึงปรารถนา นักวิจารณ์บางคนเปรียบจีดีพีเหมือนคนทำบัญชีที่รู้จักบวกอย่างเดียว ลบไม่เป็น สายตาสั้นมองเห็นแค่ปลายจมูกตัวเอง จีดีพีจึงเป็นเพียงการบวกตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชนแล้วเรียกมันว่าการเติบโต แล้วอ้างว่าการเติบโตนี่ดี โดยไม่เคยสนใจว่าเงินไปไหนและทำไม ยิ่งจ่ายค่ายาค่าหมอ จ่ายค่าอาหารขยะ นั่งอยู่ในรถคิดเป็นชั่งโมงๆ ค่าธรรมเนียมแบบซ่อนเร้นที่สถานบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตเขาเก็บสูงเท่าไรก็ยิ่งดี ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจดี ตัวเลขโตขึ้น
วันนี้ปรากฏชัดแล้วว่า ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงๆนั้น มีปัญหาความเครียด การทำงานหนัก มีความกลัวความไม่มั่นคงของชีวิตมากขึ้น แล้วยิ่งไล่ล่าหาเงินให้มากขึ้นๆ โดยที่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นจริง นักวิชาการวิจัยพบว่า ระหว่างปี 1975-1995 จีดีพีของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 แต่คนอเมริกาไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย
มีงานวิจัยที่พบว่าปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุขมี 7 อย่างคือสุขภาพจิตที่ดี, มีความพอใจและการงานที่มั่นคง, ชีวิตส่วนตัวที่มั่นคงและมีความรัก, ชุมชนที่ปลอดภัย, คุณค่าทางศีลธรรมและเสรีภาพ ผู้คนเริ่มให้ความสนใจประเทศเล็กๆ ซึ่งมีพลเมืองเพียงประมาณ 1 ล้านคนคือภูฏานซึ่งยังปกครองในระบอบสมบูรณายาสิทธิราช มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประเทศนี้วัดความเจริญชองประเทศด้วย GNH หรือ Gross National Happiness วัดกันด้วยความสุข
ผู้นำภูฏานปฏิเสธที่จะเอาตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อวัดความเจริญคุณภาพชีวิตและความสุข พวกเขาเชื่อว่า มีสิ่งดีๆ มากมายที่วัดได้ ความสุขก็เป็นอะไรที่วัดได้ พวกเขาต้องการสร้างสมดุลระหว่างวัตถุนิยม(Materialism) และจิตวิญญาณนิยม (Spiritualism) และใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีสติ วันนี้รายได้ประชาชาติต่อหัวของชาวภูฏานประมาณว่าอยู่ที่คนละ 300-500 เหรียญต่อปี (ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรซึ่งไม่ได้สำรวจมาตั้งแต่ปี 1969)
ประเทศนี้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวปีหนึ่งแค่หนึ่งหมื่นคนเท่านั้น
ตัวชี้วัดความสุขเป็นตัวชี้วัดที่ครอบคลุม บูรณาการรอบด้าน รวมเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมและธรรมาภิบาลเข้าด้วยกัน มีฐานคิดจากหลักพุทธศาสนา ทางสายกลางความพอดี พอเพียง พอใจ ความรู้จักพอจึงเป็นความร่ำรวยที่แท้จริงคนจนที่แท้จริงคือคนไม่รู้จักพอ จิตใจวุ่นวายเพราะวิ่งไล่ล่าหาเงินซึ่งมากเท่าไรก็ไม่เคยพอ เงินกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่เครื่องมืออย่างที่ควรเป็น

ชุมชนเข้มแข็งเป็นวลีที่เป็นตัวแทนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนายั่งยืนที่เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยการให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การพัฒนายั่งยืนมาจาก ข้างล่าง (Bottom Up) และจะไม่เกิดถ้าหากเป็นคำสั่งจาก ข้างบน (Top down)
ชุมชนเข้มแข็งเป็นชุมชนเรียนรู้ เพราะหากมีความรู้มีปัญญาก็จะสามารถค้นหาตัวเอง รากเหง้า จะสืบค้นและพัฒนาทุนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง เป็นชุมชนที่ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการชุมชน และมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น หน่วยงาน องค์กรต่างๆ
แบบภาคี พันธมิตร ไม่ใช่แบบอุปถัมภ์

นาโน เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่เล็กมากๆ (มาจากภาษากรีกที่แปลว่า แคระ) ในทางวิชาการขนาดของนาโนเท่ากับ 109 หรือ พันล้านส่วน เช่น นาโนเมตร เท่ากับหนึ่งพันล้านส่วนของหนึ่งเมตร นาโนวินาที เท่ากับเร็วขนาดพันล้านส่วนของวินาที นาโนเทคโนโลยี หมายถึง เทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กเป็นพันล้านส่วนของเมตร


ไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ เช่น ปาล์ม สบู่ดำ มะพร้าว ดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง น้ำมันงา น้ำมันพืชและน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีร่วมกับแอลกอฮอล์ (เมทานอลหรือเอทานอล) จนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า ไบโอเซล หรือ B100 คุณสมบัติสำคัญของไบโอดีเซล คือ สามารถย่อยสลายได้เอง ตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
แก๊ซโซฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการผสมกันระหว่างน้ำมันเบนซินกับเอทานอลหรือแอลกอฮอล์จากผลผลิตทางการเกษตรแก๊ซโซฮอล์ 95 มาจากการผสมเอทานอลในปริมาณ 10%
กับน้ำมันเบนซิน 91 อีก 90% เรียกว่า E10 ถ้าเอทานอลร้อยละ 20 ก็เรียกว่า E20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น